ในที่สุดก็มาถึงตอนสุดท้ายของหัวข้อ คู่มือ Game Content Creator มือใหม่! กันสักที (ปาดน้ำตา) ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ย้อนกลับไปอ่านบทความก่อนหน้ากันได้ตามนี้
2. ตอน โปรแกรมสำหรับ Streaming/Recording
3. ตอน ไมค์และกล้อง (ตอนนี้)
และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเรามาดูอุปกรณ์จำเป็นที่เราต้องใช้อย่างไมค์และกล้องกันดีกว่า
1. ไมโครโฟน
สำหรับการเริ่มต้น เราอาจจะใช้ของที่มีอยู่แล้วก็ได้ครับ (จากหูฟัง Gaming ของเรา) แต่จากประสบการณ์ของผม พอมาเริ่มอัดวีดีโอหรือ Streaming แล้วเรื่องเสียงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ เพราะหน้าที่ของเราคือการพูด ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ หรือพูดคุยกับคนดู คุณภาพเสียงทั้งหมดมาจากไมค์เราทั้งนั้น ดังนั้นไมค์ที่เรานำเสนอจึงเหมาะกับการอัดเสียงโดยเฉพาะ
Blue Yeti (7,490 บาท)
ตัวนี้ตอบโจทย์ของการการเป็น Streamer มากๆ เนื่องจากไมค์ตัวนี้สามารถรับเสียงได้อย่างดีเยี่ยม (สามารถตั้งห่างได้นิดหนึ่ง จะได้ไม่มาเกะกะเรา) แถมการติดตั้งก็ค่อนข้างง่าย โดยส่วนตัวแล้วติดอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องของราคาที่แพงมาก! แต่ถ้าใครมีงบและอยากมองหาสิ่งที่ดีกว่านี้ ขอเชิญไปทางรุ่นพี่อย่าง Blue Yeti Pro เลยครับ สำหรับราคาก็อยู่ที่ 15,900 บาทเอ๊ง เหอะๆ
Audio-Technica AT2020 (4,000 บาท)
ตัวนี้เสียงค่อนข้างดี แต่การใช้งานกับ Windows หลายคนมีปัญหาเรื่องไมค์เบาไป (Gaming Room ใช้ตัวนี้อยู่และเจอปัญหาคล้ายๆ กัน แต่หลังจากปรับ Setting ต่างๆ นานาก็ทำให้ใช้ได้ปกติครับ)
Rode SmartLav+ (2,560 บาท)
ตัวนี้เป็นไมค์แบบติดเสื้อที่ราคาโอเคกว่าสองตัวแรกครับ โดยรุ่นใหม่นี้จะกันเสียงรบกวนได้มากกว่ารุ่นเก่า แต่ข้อเสียอาจเป็นเรื่องของเสียงจากคีย์บอร์ดหรือเมาส์ที่จะเข้ามารบกวน เนื่องจากไมค์ตัวนี้เป็นแบบ Omni-directional (รับเสียงจากหลายทิศ) นั้นเอง
สรุป
ไมโครโฟนที่ใครอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่โดยส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับไมค์ค่อนข้างมากเพราะเนื้องานเราอยู่ที่การพูด ไม่ว่าจะทำวีดีโอเป็น Voice Over หรือพูดระหว่างเล่นเกม ผมจึงแนะนำให้ใช้ตัวที่เรามีงบมากที่สุด ส่วน Gaming Room ตอนนี้ใช้ Audio-Technica AT2020 อยู่ครับ
ที่นำเสนอมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากอยากศึกษาเพิ่มเติมหรือมองหาตัวอื่นก็อาจดูเป็นพวก Razer (ตัว Seiren) หรือ Rode (Rode NT-USB) ก็ได้ และอย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่าไมค์ที่อยู่ในหูฟัง Gaming ของเราก็พอจะใช้ได้เช่นเดียวกัน (สามารถอ่านรีวิวหูฟัง Gaming ของเราได้ที่นี่)
2. กล้อง
อันนี้แล้วแต่คนครับ บางคนก็ไม่ค่อยอยากโชว์หน้า แต่การที่คนดูเห็นหน้าเราทำให้เขาเห็นสีหน้าเราได้ และอาจทำให้คนดูรู้สึกผูกพันกับเราได้ง่ายขึ้น
ส่วนจะเลือกงบเท่าไหร่ก็แล้วแต่คนครับ ว่าจะใช้ถ่ายอะไรบ้าง แต่ส่วนตัวผมแล้ววิดีโอที่ถ่ายจากกล้องจะกลายเป็นจอเล็กๆ จึงอาจไม่จำเป็นต้องใช้กล้องดีนัก
Logitech Webcam HD C920 (4,399 บาท)
เป็นกล้องที่คุณภาพดีและเพียงพอสำหรับการ Stream หรือ อัดวีดีโอต่างๆ แต่ข้อเสียคือมันสามารถเก็บวิดีโอได้ที่ 720p 60fps เท่านั้น ถ้าอยากจะได้ภาพที่ 1080p 60fps อาจจะลองดู C922 แทน โดย C920 ตัวนี้เป็นตัวที่ Gaming Room ใช้อยู่และรู้สึกพอใจกับมันมากครับ
Logitech HD Webcam C525 (1,899 บาท)
อย่างที่บอกไปว่าเราอาจไม่ได้ต้องการกล้องที่ให้ความละเอียดของภาพมากนัก เพราะส่วนใหญ่ภาพที่ออกมาจะเล็กจนแทบไม่เห็นความแตกต่าง ตัวนี้จึงเป็นอีกตัวที่น่าลอง ด้วยคุณภาพ HD (720p) ติดนิดเดียวตรงที่เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ รุ่นนี้สีภาพจะซีดไปนิดหนึ่ง
สรุป
อันนี้แล้วแต่งบเลยครับเพราะ Webcam ที่มีคุณภาพก็สามารถใช้ทำอย่างอื่นได้อีก แต่ถ้าใช้งานเพียงแค่อัดวีดีโอ พูดคุยกับแฟนๆ ตัว C920 ก็ถือว่าใช้ได้ทีเดียวครับ
บทความนี้คงเป็นเพียงข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากจะเริ่มเป็น “Game Content Creator” นะครับ ไม่ว่าจะทำไว้ดูเอง แชร์กันในกลุ่มเพื่อน หรือจะทำจริงจังหวังผล พอเราได้เริ่มตรงนี้แล้ว ก็จะรู้ว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมเองครับ หากมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก็ช่วยแนะนำกันด้วยนะครับ