คุณเคยรู้สึกว่าพอดูการ์ตูนหรือดูหนังสักเรื่องแล้ว “อยากให้เรื่องนั้นกลายเป็นเกม” กันบ้างมั้ยครับ!? ถ้าเคยแสดงว่าคุ้นน่าจะเข้าใจคอนเซปท์ของบทความนี้แล้ว ผมเองก็รู้สึกแบบนี้อยู่บ่อยๆเหมือนกัน แต่เพิ่งรู้สึกจริงจังและมีโอกาสเขียนออกเป็นเรื่องเป็นราวก็ตอนนี้นี่แหละ

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า One-Punch Man เป็นผลงานของ One (ผู้แต่ง) และ Yusuke Murata (ผู้วาด) มีจุดเริ่มต้นที่ One วาดมังงะเรื่องนี้ผ่านเน็ตแบบลวกๆไม่ได้สวยใสอะไร แต่ก็ไปถูกใจ Yusuke Murata นักวาดชื่อดังที่มีผลงานอย่าง Eyeshield 21 ในที่สุดเรื่องนี้ก็โด่งดังเป็นพลุแตก เป็นมังงะที่ถูกจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคนี้ แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าการ์ตูนสายหลักที่ดังขนาดนี้ ยังไม่มีเกมเป็นของตัวเองอีกเหรอ!? ผมเลยลองคิดเกมขึ้นมาเองซะเลย!!

แต่พอนึกขึ้นได้ว่า ไซตามะ เป็นคาแรคเตอร์ที่สู้กับใครก็ชนะหมดนี่หว่า พระเอกเก่งเกินไปเกมไม่สนุกแหงๆ แล้วแบบนี้จะทำยังไงให้ One-Punch Man กลายเป็นเกมได้ล่ะ!?

เนื้อเรื่องและแนวคิดของเกม One-Punch Man นั้น ด้วยความที่พี่โล้น “ไซตามะ” ไม่ค่อยจะมีดวงเรื่องการต่อสู้มากนัก เจอคนเก่งๆก็ปราบง่ายเกินไป เจอลูกระจอกก็สอยทีเดียวดับ สุดท้ายเขาเบื่อโลกเพราะความแข็งแกร่งของตัวเอง แต่อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าลึกๆพี่แกก็ยังหวังจะเจอคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกับตัวเอง แต่สังเกตได้ว่าบางครั้งไซตามะก็ไม่ค่อยมีโชคเรื่องการเจอคู่ต่อสู้เหมือนกัน ผมมองว่านี่น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เกม One-Punch Man เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องดัดแปลงเรื่องราวจากต้นฉบับมากนัก

เนื้อเรื่อง

ส่วนเรื่องราวในเกมเกิดขึ้นเมื่อฮีโร่เกือบทั้งหมดในสมาคมฮีโร่ต่างถูกลอบทำร้าย โดยเฉพาะ ฮีโร่ระดับ S ที่ถูกเล่นงานสาหัสเป็นพิเศษ ยกเว้น เจนอส ทัตสึมากิ และ คิง ที่ไม่ถูกเล่นงาน เหตุการณ์นี้กลายเป็น ภัยพิบัติระดับมังกร และทำให้เหล่าฮีโร่และชาวเมืองต่างหวาดกลัวจนไมมีใครอาสาจัดการเรื่องนี้เลยสักคน

พวกเขาจะทำอย่างไรเมื่อ “ไซตามะ” กลายเป็นผู้ต้องหาของสมาคมฮีโร่!?

วันหนึ่งระหว่างที่ ไซตามะ กำลังจะไปซื้อของลดราคา ไซตามะบังเอิญเจอ “กลุ่มคนปริศนา 9 คน” ซ้ำร้ายวายร้ายกลุ่มนั้นยังรู้ว่าไซตามะมีพลังเหนือกว่าฮีโร่ระดับ S ทุกคนอีกด้วย ไซตามะได้ยินดังนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคนกลุ่มนี้รู้เรื่องของเขาแถมยังหมายหัวเขาอีกต่างหาก ขณะที่เบื้องสูงของ “สมาคมฮีโร่” เองก็เริ่มรู้เรื่องกลุ่มคนปริศนา 9  คนนี้แล้ว จึงมอบภารกิจให้ฮีโร่ระดับ S ทั้ง 3 คนที่เหลืออยู่สืบเรื่องนี้ เจนอสกับคิงรู้ว่าเรื่องนี้อาจเกินกำลังของฮีโร่ระดับ S จึงขอร้องให้ไซตามะช่วยเหลือด้วย

แต่ในที่สุด เจนอส กับ ทัตสึมากิ ก็ถูกกลุ่มปริศนานี้เล่นงานภายในเวลาไม่กี่วินาที ไซตามะพยายามมาช่วยเจนอสกับทัตสึมากิ แต่พวกมันหนีไปได้ซะก่อน ทั้งสองคนให้การกับสมาคมฮีโร่ตรงกันว่าวายร้ายปริศนากลุ่มนี้ทุกคนล้วน หัวล้าน เหมือนไซตามะ สมาคมฮีโร่จึงคิดว่าพวกมันอาจเกี่ยวข้องกับไซตามะ เขาจึงถูกสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ กลุ่มหัวล้านทั้ง 9” ทันที

สมาคมฮีโร่สั่งให้เจนอส คิง และทัตสึมากิไปสืบว่าวายร้ายกลุ่มนี้เป็นใครกันแน่ พร้อมตามหาตัวฮีโร่ระดับ S ที่อาจจะยังมีชีวิตอยู่ตามเมืองต่างๆ เพราะคนที่สามารถต่อกรกับวายร้ายที่มีพลังระดับเดียว กลุ่มหัวล้านทั้ง 9” นี้ได้มีเพียง “ฮีโร่ระดับ S” ของสมาคมเท่านั้น พร้อมกับจับตัวไซตามะกลับมาสมาคมฮีโร่ในฐานผู้ต้องสงสัยในเหตุภับพิบัติระดับมังกรนี้กลับมาด้วย

ส่วนไซตามะจะทำอย่างไรเมื่อ สมาคมฮีโร่ และ กลุ่มหัวล้านทั้ง 9” ต่างหมายหัวเขาด้วยกันทั้งนั้น!?

ระบบและเกมเพลย์

ตัวอย่างเกมและระบบที่ใช้คิดว่าหลายคนคงจะนึกออกว่าควรเป็นยังไง หนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับผม คือ เกมจากการ์ตูนสไตล์ค่าย Bandai Namco นั่นเอง ผมคิดว่าเกม Arena Fighting บนฉาก 3 มิติอย่าง JoJo’s Bizarre Adventure : Eyes of Heaven และ Naruto Shippuden Ultimate Ninja Storm 4 : Road to Boruto บน PS4 ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะทั้ง 2 เกมให้บรรยากาศไสตล์การ์ตูนญี่ปุ่นแบบเต็มที่และมีลูกเล่นให้ใส่ในเกมได้มากกว่าแนว Fighting แบบ Street Fighter หรือ Tekken โดยผมจะขอพูดถึงแค่โหมด Story และระบบเกมเพลย์ซึ่งเป็นจุดสำคัญของเกมกันครับ

ตัวอย่างเกม JoJo’s Bizarre Adventure : Eyes of Heaven

ตัวอย่างเกม Naruto Shippuden Ultimate Ninja Storm 4 : Road to Boruto

ระบบต่อสู้ในโหมดทั่วไป (เช่น Training / VS / Arcade)

– เกมนี้จะเป็นไฟท์ติ้งบนฉาก 3 มิติ เราสามารถเดินตามซอกซอย ปีนป่านขึ้นลงที่สูง และหยิบอุปกรณ์ในฉากมาเล่นงานศัตรูได้

HUD ในฉากสู้หลักๆจะมีเกจพลังชีวิต เกจพลังท่าไม้ตายของสมาชิกในทีม และระยะเวลาต่อสู้

– ในการต่อสู้ใช้คาแรคเตอร์ได้ตั้งแต่ 1:1 ถึง 3:3 สามารถเล่นได้สูงสุดทีมละ 3 ตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้อิสระ เช่น ถ้าเล่นแบบ 3:3 จะเลือกเล่น Co-Op 2 คนร่วมกับ CPU 1 ตัว หรือคนเดียวร่วมกับ CPU 2 ตัวก็ได้ เป็นต้น

– ระหว่างสู้สามารถสลับคาแรคเตอร์ลงมาได้อย่างอิสระ

– การต่อสู้จะเป็นยกเดียวตัดสินผล ฝั่งไหนคาแรคเตอร์ในทีมพลังชีวิตหมดก่อนถือว่า K.O. แต่ถ้าเป็นแมตช์ 1:1 จะนับจำนวนยก ใครชนะครบ 2 ยกก่อนเป็นผู้ชนะ

– มีระบบเลือกคำสั่งโจมตีจากรายการที่ขึ้นบนจอด้านซ้าย (JoJo) ส่วนตัวมองว่าเป็นระบบที่น่าสนใจ เพราะเราสามารถเห็นปุ่มท่าโจมตีแบบชัดๆ และกดคำสั่งต่อสู้พร้อมขึ้นคัทซีนสร้างสีสันให้สนุกมากขึ้นเหมือนกำลังอ่านฉากบู๊ในมังงะอยู่ 

ระบบในโหมด Story

– เนื้อเรื่องจะแบ่งเป็น Chapter เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านมังงะเป็นตอนๆ

– มีระบบ Open World เดินสำรวจและทำเควสต่างๆในเมืองและสมาคมฮีโร่ เพื่อสืบหาตัวกลุ่มหัวล้านทั้ง 9 และฮีโร่ระดับ S ที่ถูกเล่นงาน

เน้นมินิเกมให้มากเข้าไว้ ไม่ให้ไซตามะออกโรงได้ง่ายๆ

ตัวละครต่อสู้เริ่มต้นจะมี เจนอส กับ ทัตสึมากิ เพียง 2 คนเท่านั้น โดย 2 คนนี้จะเป็นแนวหน้าในการต่อสู้แทนไซตามะที่ถูกทั้งสมาคมฮีโร่และกลุ่มหัวล้านทั้ง 9 หมายหัวอยู่

ส่วนไซตามะในเกมนี้จะเน้นให้ใช้ “Quick Time Event” และ “มินิเกมต่างๆ” แทนการต่อสู้ เนื่องจากในการ์ตูนไซตามะมักจะผิดหวังกับการต่อสู้ที่ตัวเองเจออยู่บ่อยๆ ทั้งเจอศัตรูอ่อนเกินไป เจอพวกถ่วงเวลา หรือห่วงซื้อของลดราคา ฯลฯ ผมจึงคิดว่าความสนุกของไซตามะในเกมนี้ไม่ใช่ฉากบู๊มันๆต่อยตูมเดียวชนะ แต่เป็นการลุ้นว่า “ไซตามะจะฝ่าความซวย” แล้วได้ต่อสู้กับศัตรูหลักของเกมอย่าง กลุ่มหัวล้านทั้ง 9” จริงๆหรือเปล่า

ถ้าไซตามะต้องเล่นพนันบ้าง มันจะเป็นยังไงนะ!?

One-Punch Man เป็นการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกตอนนี้อย่างที่ได้บอกไปแล้ว แต่ก็น่าแปลกที่การ์ตูนเรื่องนี้ยังไม่มีเกมอย่างเป็นทางการเหมือนการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อย่างคลิปที่แปะไว้ในบทความก็ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะถึงขั้นมีแฟนเมดใส่คาแรคเตอร์ไซตามะลงในเกมตามไอเดียของตัวเองกันเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งบทความของผมและคลิปแฟนเมดล้วนเป็นในไอเดียส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนเกมจริงของ One-Punch Man จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็คงไม่มีใครให้คำตอบได้ คงต้องรอกันต่อไปสถานเดียวล่ะครับ

Facebook Comments

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here