เกมเมอร์ทุกคนย่อมต้องมีเกมโปรดในดวงใจที่แม้ว่าจะผ่านไปกี่ปี เทคโนโลยีจะล้ำสมัยขึ้นมากแค่ไหน แต่ความหลงไหลและหวนคิดถึงเกมเหล่านี้ก็ยังไม่จากไปไหน ด้วยเพราะเกมเหล่านั้นเปลี่ยนมุมมองในชีวิตบางอย่างของเราไป ผมเองก็มีเกมในดวงใจเหล่านี้เช่นกันและวันนี้อยากจะนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังครับ
Golden Sun เกมแรก(ในชีวิต)ที่ทำให้ผมร้องให้
“ยังจำความรู้สึกตอนเล่นเกมจบ ครั้งแรก ได้ไหม?”
ซีรี่ย์ Golden Sun คือเกมแนวภาษาแนว RPG ที่ออกวางจำหน่ายในยุคที่ Gameboy SP กำลังโด่งดัง ด้วยเป็นการเปลี่ยนยุคสมัยจากเครื่องเกมใช้ถ่านเป็นเครื่องเกมแบบสายชาร์ตอย่างเต็มตัว Golden Sun คือเกมแรกที่ผมได้มีโอกาสเล่นบนเครื่องเกมนี้ และก็เป็นเกมๆแรกที่ผมเล่นจนเห็นฉากจบสุดท้ายของทั้งภาคแรกและภาคเสริม The Lost Age
ผมยังจำได้แม่นว่าตอนที่เครดิตเลื่อนมาบนจนพร้อมเพลงประกอบ ผมซึ่งตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 10 กว่าขวบวางเครื่องเกมลงช้าๆ เดินออกมาที่ระเบียงบ้าน และ “ร้องไห้” ครับ ไม่ใช่เพราะด้วยเสียใจแต่อย่างใด แต่มันคือน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจในการเล่นเกมๆหนึ่งจนจบ ความดีใจที่เราสามารถนำพาเหล่าตัวละครที่เราใช้เวลากว่า 100+ ชั่วโมงร่วมกันมาถึงฉากแฮปปี้สุดท้ายได้ สำหรับผมเด็ก 10 ขวบที่มักโดนพี่ๆล้อว่าเป็นคนไม่อดทน เล่นเกมอะไรไม่เคยถึงครึ่งเกม ความภาคภูมิใจและความสำเร็จในวันนั้นกลายเป็นรากฐานและบทเรียนชีวิตที่ผมยังมักนึกย้อนกลับมาเวลาที่ต้องเจอหรือทำอะไรยากๆครับ
ย้อนกลับมา Perfect Run ในเกม Super Mario Land
เกม Super Mario Land น่าจะเป็นเกมมาริโอ้เกมแรกที่ผมได้เคยเล่นในชีวิต จากการแย่งเครื่องเกมบอยสีขาวๆใส่ถ่าน 2A 4 ก้อน 40 บาทของพี่ชายผมมาเล่น และแน่นอนว่าด้วยความที่เกมนั้นค่อนข้างยากมากสำหรับเด็ก 5 ขวบจะเข้าใจได้ ผมจึงเล่นไปไม่ถึงจบด่านแรกด้วยซ้ำ Fast forward มาอีกราว 5+ ปีให้หลัง หลังจากที่ผมเล่นเกม Golden Sun จบสองภาค ภารกิจต่อไปของผมคือการหยิบเครื่องเกมบอยรุ่นเก่านี้กลับมาเพื่อทวงแค้นให้กับความพ่ายแพ้ในสมัยเด็กอีกครั้ง
เมื่อผมโตขึ้น ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นมากกว่าแค่กดๆอย่างเดียว บวกกับประสบการณ์จากการเล่นเกม RPG หนักๆอย่าง Golden Sun มาแล้ว ทำให้ผมใช้เวลาไม่นานมากจากการตายแล้วตายอีกจน Game Over เป็นสิบรอบในช่วงต้นๆ พัฒนาจนผมสามารถทำ No Hit Run หรือก็คือเล่นแบบไม่ตาย/ไม่โดนโจมตีจนตัวหดเลยตลอดทั้งเกม จนจบที่การทำ Perfect Speed Run ที่เพิ่มความไวในการจบแต่ละด่านบวกกับการเก็บหีบเหรียญ, ไอเทมลับและเส้นทางลับทั้งหมดของเกมได้ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาทีต่อการเล่น 1 ครั้งได้อย่างสบายๆ (เกมบนเครื่องเกมบอย Save ไม่ได้) นี่คือเกมที่สองที่ผมสามารถเอาชนะ และเรียนรู้เทคนิค “Learn from failure” หรือศึกษาพัฒนาตัวเองจากข้อผิดพลาดในเกมก่อนหน้า และไม่ทำอีกในเกมรอบถัดไป ซึ่งจะกลายมาเป็นเทคนิคที่ติดตัวผมจนกระทั่งเกมในยุคหลังๆอย่าง Dark Souls
Fire Emblem ความยากข้ามยุคสมัย ผันเปลี่ยนเป็นความหลงไหล
Fire Emblem : Rekka no Ken หรือ Fire Emblem เฉยๆของฝั่งตะวันตกคือภาคที่ 7 ของซีรี่ย์เกมวางแผนแนว Turn-based ขึ้นชื่อเรื่องความยากของเกมและระบบ Perma-dead ของตัวละครผู้เล่น ที่เป็นตัวละครมีชื่อมีเอกลักษณ์ของตนเอง เป็นอีกหนึ่งเกมในยุค GBA ที่ผมก็ได้มีโอกาสเล่นตอนเด็กๆ (แย่งพี่ชายเช่นเดิม) แล้วก็เล่นไม่จบเพราะความยาก ตลอดเวลาหลายปีผมเกลียดเกมแนวนี้มากด้วยความยากของมัน แต่เมื่อมันเป็นเป้าหมายต่อไปของผม การจะล้างความอับอายต่อความพ่ายแพ้ในอดีตได้มีเพียงวิธีเดียวคือเอาชนะมันครับ
นี่คือเกมที่สามที่ผมเล่นจบและใช้เวลากับมันเยอะกว่าเกม Golden Sun สองภาค+Super Mario Land รวมกันเกือบเท่าตัว ผมตายแล้วตายอีก เสียตัวละครไปหลายต่อหลายครั้งจนทุกครั้งที่ใครตายสักคนผมจะกด “Soft Reset” หรือไม่ก็ปิดเปิดเครื่องเพื่อโหลดเซฟขึ้นมาใหม่ แล้วลองกลยุทธ์หรือวาง Formation ตัวละครใหม่ไปเรื่อยๆจนผมสามารถผ่านด่านนั้นๆได้โดยที่ไม่มีใครตายเลย
ด้วยความที่เกม Fire Emblem (7) นั้นค่อนข้างยาว ผมจำไว้ว่ากว่าจะเล่นเกมนี้จบก็ผลัดเปลี่ยนไปหลายยุคเหมือนกัน เล่นๆหยุดๆ หนีไปเล่น Advance War บ้างสักพักแล้วกลับมาเล่นใหม่อย่างนี้ ตั้งแต่บนเครื่อง Game Boy Advance จนไปเล่นจบบน Emulator บนคอมฯ Window 2000 และ Window ME นู่น แต่สิ่งที่ผมเริ่มรู้สึกหลังจากเล่นไปกลางๆเกมก็คือ “ความสนุก” ที่ผมได้รับจากเกมแนวนี้ และมันทำให้ผมหลงไหลซีรี่ย์นี้และเกม Turn-based ในภาพรวมมาจนถึงทุกวันนี้ครับ
Metal Gear Solid 3 เปิดประตูสู่โลกสายลับ
ในช่วงที่ผมกำลังสนุกกับเครื่องเกมพกพาอยู่นั้น ก็เป็นยุคที่พี่ชายกำลังสนุกกับเครื่องคอนโซลอย่าง Playstation 2 และเกม Metal Gear Solid : Snake Eater นี่คือครั้งแรกที่ผมได้เห็นเกมลอบเร้นแบบจริงจังเป็นครั้งแรก แล้วผมก็หาจังหวะมาเล่นเองจนได้ ต้องบอกว่าผม “เล่นไม่เป็น” แล้วก็เล่นมั่วๆยิงคนไปเรื่อยๆยังกับเกม GTA แต่ก็ถือว่ามันทำให้ผมรู้จักกับซีรี่ย์ Metal Gear แต่กว่าผมจะได้เล่นซีรี่ย์นี้จริงๆก็ปาไปช่วงยุค PS3 นู่นเลย แล้วก็ไม่ได้เล่นทันทีเพราะผมยังต้องเจอกับกำแพงที่ผมต้องฝ่าฟันกำแพงต่อไปนั่นคือ..
เอาชนะความกลัวด้วย Resident Evil 5
หลังจากที่ PS3 ออกตลาดมาได้สักพักจนราคาไม่ปั่นแล้ว ผม(และพี่ๆ)ก็รวมใจกันซื้อเครื่อง PS3 พร้อมเกม Resident Evil 5 และ Metal Gear Solid 4 มาไว้ในครอบครอง ทว่าก่อนที่ผมจะได้มีโอกาสลองเล่นเป็นลุงงู เกมก็ถูกพี่ชายผมซึ่งเป็นเด็กมหาลัยยึดไปเล่นที่หอฯเสียก่อน ผมจึงเหลือเพียงตัวเลือกเดียวกับเกม Resident Evil 5 เกมซอมบี้.. “เกมผี” ที่ผมทั้งเกลียดทั้งกลัว และไม่กล้าเล่นมาตั้งแต่เด็กๆยันตอนนั้นอายุราวๆ 15-16 แล้ว ผมจำได้แม่นว่าสมัย Resident Evil ภาค 2-4 ออกเวลาพี่ผมเล่นผมจะรีบวิ่งแจ้นออกนอกห้องทันที เพราะแม้แต่เสียงเกมก็ทำให้ผมกลัวจนเก็บไปฝันร้ายได้ ไม่ต้องพูดถึงหนังผี/หนังซอมบี้ ที่ไม่แม้แต่จะกล้าดูหน้าปกแผ่นซีดีหนังด้วยซ้ำ..ครับ..ผมกลัวถึงระดับนั้นแหละ
“ผมกลัวผีมากแม้แต่ปกแผ่นหนัง/เกม ก็ยังไม่กล้าดูหรือเดินเฉียดด้วยซ้ำ”
โชคดีของผมที่เกม RE5 นั้นศัตรูค่อนข้างมีความเป็น “คน” มากกว่า “ซอมบี้” เกมเพลย์ที่มีความเป็นหนังแอคชั่น (ซึ่งผมชอบ) และบรรยากาศเกมที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตอนกลางวันแดดออก ทำให้ผมไม่ค่อยรู้สึกว่ามันน่ากลัวเท่าไร และก็จริงๆครับ เมื่อผมสามารถเล่นเกมนี้จนจบได้อย่าง “ลำบาก(ใจ)เล็กน้อย” แต่ไม่ถึงกับหัวใจวายเพราะกลัวผีเสียก่อน
แม้เกมนี้อาจจะมีคนบ่นเรื่องแนวทางของเกมแต่สำหรับผมแล้วเกม RE5 นี้คือวัคซีนแก้ “โรคกลัวผี” ของผมและเป็นการทำลายกำแพงแห่งความกลัวนี้ เปิดประตูต้อนรับผมสู่โลกเกม Horror อย่างเต็มตัว แน่นอนว่าหลังจากเล่น RE5 จบผมก็กลับไปลองเล่น RE3-4 และก็เกมผีอื่นๆอาทิ Clock Tower, The House of The Dead และดูหนังผีอย่าง Resident Evil เวอร์ชั่นคนแสดงหรือซอมบี้ของ G.A. Romero ครับ
RE5 เปลี่ยนมุมมองผมกับเกม Horror ช่วยให้เด็กขี้กลัวผีคนหนึ่ง กลายเป็นเกมเมอร์ที่สามารถเล่นเกม Horror ได้แทบทุกประเภทโดยที่ไม่ต้องแหกปากสะดุ้งตกเก้าอี้ทุกๆ 10 วินาที เป็นนักชมและนักอ่านที่ติดตามซอมบี้แทบทุกประเภท แล้วก็เป็นคนๆเดียวในทีมงาน Gaming Room ที่สามารถนั่งเล่นเกมผีได้โดยไม่หัวใจวายซะก่อนครับ