dsc_9434-vintageหลายๆคนพอได้ยินคำว่า “วิดีโอเกม” อาจจะนึกถึงเด็กอ้วนโดดเรียนมานั่งเล่นในร้านเกมหรือ เด็กที่มือติดกับคอนโทรลเลอร์หมกอยู่แต่หน้าทีวี ซึ่งนั่นเป็นการเหมารวม ที่นักข่าวหยิบยกเอามาพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ และหลายครั้งที่นักเขียนข่าวสรุปว่าผู้ร้ายหมกมุ่นกับเกมๆนั้นจึงเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย การทะเลาะวิวาท หรือ ที่เพิ่งเป็นข่าวที่ประเทศญี่ปุ่น ที่คนขับรถบรรทุกชนคนตายเพราะเล่น Pokemon Go อยู่ (หรือว่าเพราะไร้ความรับผิดชอบจึงเล่นมือถือขณะขับรถ?)

“…หลายๆครั้งที่นักเขียนข่าวสรุปว่าผู้ร้ายหมกมุ่นกับเกมๆนั้นจึงเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

Image result for newspaper blame videogameข่าวมักหยิบเอาเกมมาเป็นต้นเหตุของความรุนแรง แต่ถ้าเราลองมองไปลึกกว่านั้น อาจจะเห็นได้ว่าความจริงแล้วหนังสือพิมพ์ต้องการสร้างข่าวให้เป็นกระแสสังคม (over-sensationalised news) เพราะความจริงแล้ว ต้นเหตุเหล่านั้นฟังดูไม่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ พ่อแม่ไม่ได้ให้เวลากับลูก หรือ ตัวเด็กเองหดหู่กับสภาพแวดล้อม โดนเพื่อนแกล้ง ข่าวเหล่านี้ทำให้ “เนื้อเรื่อง” ข่าวไม่น่าสนใจ จากความมักง่ายของหนังสือพิมพ์ เกมจึงตกกลายเป็นผู้ร้ายไปโดยปริยาย และยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ตามมาก็คือรัฐบาลเองก็ออกมาแบน เกมนู้นเกมนี้ ห้ามเล่นหลังเวลานี้ เพื่อสร้างผลงานให้เหมือนว่ารัฐบาล active กับการแก้ปัญหาสังคม แต่มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุสุดๆ

“…ไม่ว่าจะเป็นสื่ออะไรก็ส่งผลเสียได้เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนกับละครน้ำเน่าหลังข่าว รายการทีวีที่ไม่มีสาระ หรือ วีดีโอ Youtube…”

วีดีโอเกมเองก็เหมือนเป็น สิ่งบันเทิงชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรจากหนังหรือรายการทีวีที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าสิ่งที่เราหรือเยาวชนเสพเข้าไปโดยไม่ได้มีความเข้าใจพื้นฐานของความถูกผิด ไม่ว่าจะเป็นสื่ออะไรก็ส่งผลเสียได้เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนกับละครน้ำเน่าหลังข่าว รายการทีวีที่ไม่มีสาระ หรือ วีดีโอ Youtube ถ้าดูโดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณก็ส่งให้เกิดผลเสียและมีค่านิยมผิดๆเช่นกัน

“…ผลวิจัยบ่งชี้ว่าการเล่นเกมสามารถช่วยโรคหลายๆโรค อย่างเช่นโรคบกพร่องในด้านการเรียนรู้ (Dyslexia) หรือโรคซึมเศร้า (Chronic Depression) ด้วยซ้ำ”

ถ้าจะนั่งวิเคราะห์จากผลการวิจัยกี่ฉบับก็ตาม ก็ไม่มีผลวิจัยไหนที่ชี้ว่าการเล่นเกมรุนแรงส่งผลให้บุคคลนั้นก่ออาชญากรรม (อย่างเช่น GTA, Call of Duty, Doom เป็นต้น) แต่แน่นอนการเล่นเกมเหล่านั้นในวัยเด็กอาจทำให้เด็กมีความกร้าวร้าวแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นต้นเหตุของการกระทำที่ผิด การเลือกเกมที่เหมาะสมกลับมีผลดีต่อเราด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในวัยเด็ก และก็มีผลวิจัยพอๆกันที่บ่งบอกว่าการเล่นเกมมีผลประโยชน์ให้แก่กระบวนการคิด การตัดสินใจ และ ส่งเสริมการเรียน (หลายๆคนเริ่มเรียนรู้ภาษาที่ 2 และ 3 จากเกม) บางผลวิจัยบ่งชี้ว่าการเล่นเกมสามารถช่วยโรคหลายๆโรค อย่างเช่นโรคบกพร่องในด้านการเรียนรู้ (Dyslexia) หรือโรคซึมเศร้า (Chronic Depression) ด้วยซ้ำ

“…จำนวนคนที่เล่นเกมมีมากกว่า 40% ของประเทศ รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายเกมในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 20 ของโลก”

screen-shot-2016-09-13-at-16-20-25

ยิ่งทุกวันนี้คนเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะเมืองไทยที่มีประชากรอยู่มากกว่า 68 ล้านคน โดยจำนวนคนที่เล่นเกมมีมากกว่า 40% ของประเทศ รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายเกมในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 20 ของโลก โดยเฉพาะตลาด Smart Phone นั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แน่นอนเกมบนมือถือก็ควบคู่ตามมาด้วยติดๆ นั่นแปลว่าไม่ว่าคุณจะต่อต้านการเล่นเกมแค่ไหน มันไม่ไปไหนแน่

สุดท้ายแล้วการเล่นเกม สามารถทำได้ไม่ว่าเราเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และสิ่งที่ทำได้ คือการเรียนรู้ของความพอดี โดยใช้วิจารณญาณในการเล่น

สำหรับเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่น พ่อแม่ก็ควรสนใจในพฤติกรรมของลูกและสอนให้มีความรับผิดชอบ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการมีระบบจำกัดอายุในการซื้ออย่างเมืองนอก (เห็นเมืองไทยบอกว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่เห็นเลย) ก็เป็นข้อแนะนำที่ดีให้กับพ่อแม่ที่ซื้อเกมให้ลูก เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกเกมที่เหมาะสมกับเด็ก ผมเริ่มสังเกตุว่าสังคมเริ่มยอมรับการเล่นเกมมากขึ้นแต่ทุกครั้งที่มีเหตุร้ายๆเกิดขึ้น ทุกคนกลับชี้นิ้วไปที่วีดีโอเกม

สิ่งที่ผมชอบตกเป็นกิจกรรมที่คนอื่นมองว่าไม่เอาไหน ผมอยากลบล้างความคิดเดิมๆของคนรุ่นเก่าทิ้งซะ และไม่อยากให้คนนอก เหมารวมทั้งหมด ถ้าเทียบกับสื่ออื่นๆ วีดีโอเกมถือว่าค่อนข้างใหม่อยู่ สังคมยังต้องพยายามเข้าใจมันให้มากกว่านี้ครับ

violence-is-caused-by-video-games-said-no-facts-ever

ขอจบด้วย meme นี้นะครับ “เกมไม่ได้ทำให้เราเป็นฆาตกร”

หากมีความคิดเห็นยังไง เขียนลงใน comment ข้างล่างได้เลยครับ

อ้างอิง:
https://www.apa.org/pubs/journals/releases/amp-a0034857.pdf
https://www.psychologytoday.com/blog/freedom-learn/201502/cognitive-benefits-playing-video-games
http://www.khaosodenglish.com/life/2015/08/26/1440574217/

Facebook Comments