“เกม” เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่คนไทยเลือกเสพอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเกม ละคร ภาพยนตร์ เพลง และอื่นๆอีกมากมายล้วนเป็นที่ถูกจับจ้องถึงความเหมาะสมในการเผยแพร่สู่สาธารณชน แม้ว่าเกมจะไม่ใช่สื่อที่ถูกนำเสนอข่าวสารสู่สังคมไทยบ่อยครั้ง แต่ก็มีเกมที่มีอิทธิพลมากจนสังคมไทยเกิดความวุ่นวายถึง 4 เกมเลยทีเดียว มาดูกันว่ามีเกมอะไรบ้าง

1. Ragnarok Online

Ragnarok ถือเป็นเกมออนไลน์ MMORPG จากประเทศเกาหลีเกมแรกๆที่เข้ามาบุกตลาดเมืองไทยตั้งแต่ กันยายน 2545 – มิถุนายน 2559 โดย บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เกมนี้เป็นเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามไปทั่วโลกอย่างแท้จริง กลายเป็นหนึ่งในตำนานเกมของโลกที่ยากจะหาใครมาโค่นล้มได้ โดยปัจจุบัน บริษัท อิเล็คทรอนิกส์ เอ๊กซ์ตรีม จำกัด ได้รับลิขสิทธิ์ในการสานต่อเกมในตำนานเกมนี้มาจนถึงปัจจุบัน

หากพูดถึงเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Ragnarok เป็นเกมหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เด็กและวัยรุ่นสมัยนั้นส่วนใหญ่เคยสัมผัสกับเกมนี้มาแล้วทั้งนั้น ช่วงนั้นเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ยังไม่มีให้เห็นมากนัก แต่ถึงยังไง Ragnarok ก็เป็นชีวิตส่วนหนึ่งของเด็กไทย เด็กไทยจึงถาโถมใช้บริการร้านเกมกันอย่างล้นหลาม และน้อยคนนักที่จะมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไว้เล่นที่บ้าน ทำให้ธุรกิจอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ในยุคนั้นเฟื่องฟูขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งที่ประสิทธิภาพคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในตอนนั้นเทียบชั้นกับตอนนี้ไม่ได้เลย แสดงให้เห็นว่า Ragnarok เป็นเกมที่มีอิทธิพลกับเด็กไทยในตอนนั้นจริงๆ

Morroc ตลาดการค้าหลักของเซิฟเวอร์ไทย
ระบบ Guild War ที่หลายคนคงเคยสัมผัสมาแล้ว…

แน่นอนว่าเกมที่ฮิตถึงขั้นมืดฟ้ามัวดินแบบนี้ ปัญหาต่างๆก็ตามมาเป็นขบวนด้วย ทั้งการติดเกม การลักขโมยเพื่อเติมเงินหรือซื้อขายไอเทม รวมไปถึงการละเมิดลิขสิทธิ์จนเกิด “แรคเถื่อน” เต็มบ้านเต็มเมือง ทำให้ Ragnarok กลายเป็นจุดกำเนิดของปัญหาเกมในบ้านเราด้วยไปโดยปริยาย แม้จะเริ่มมีเกมออนไลน์อื่นๆตามเข้ามามากขึ้น แต่เกมนี้ก็ยังได้รับความนิยมสูงและสร้างปัญหาให้เยาวชนไทยอยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตามคอเกมก็ยังยกให้ Ragnarok เป็นหนึ่งเกมในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน

2. Counter Strike

เป็นตำนานเกมที่คู่มากับ Ragnarok เลยก็ว่าได้สำหรับ Counter Strike เกม FPS ยอดฮิตโดย Valve Corporation สรรพคุณคงไม่ต้องบรรยายอะไรมากเพราะสมัยก่อนเป็นเกมที่ฮิตเหลือเกิน จะเรียกว่าเป็นต้นแบบของเกม FPS ทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ส่วนในเมืองไทยนั้นสองเกมนี้เป็นเกมที่มาควบคู่กับ Ragnarok เลย สมัยนั้นใครไม่ชอบเกมใหม่กว่าอย่าง Ragnarok ก็ต้องเล่น Counter Strike กันเหมือนเดิมนี่แหละ (บางครั้งก็มี Half-Life ด้วย)

เคาท์เตอร์กันมั้ยพวก!!

อย่างไรก็ตาม Counter Strike ก็เป็นเกมหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเด็กไทยที่สุดคู่มากับ Ragnarok ในยุคนั้น สังเกตได้ว่าที่สังคมไทยมองเกมเป็นสิ่งบ่มเพาะความรุนแรงนั้นมักจะเป็นเกม FPS ประเภทเดียวกับ Counter Strike ซะส่วนใหญ่ เช่น Point Blank และ Special Force ด้วยคาแรคเตอร์ที่สวมบทบาทเป็น “ผู้ใช้อาวุธสงครามต่างๆ” นี้เองที่ผู้ปกครองมองว่าไม่เหมาะสมกับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง แน่นอนว่าย่อมถูกจับตามองจากสังคมไทยถึงความรุนแรงของอาวุธสงครามเหล่านี้ที่อาจปลูกฝังเข้าไปในเยาวชน (ถึงแม้จะเป็นตำรวจจับผู้ร้าย) จนออกไปสวมบทบาทเล่นเกม FPS ในโลกความเป็นจริง เช่น คดีวัยรุ่นไล่ยิงคนกลางตลาดไท จ.ปทุมธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าคนร้ายได้ไล่ยิงผู้คนด้วยท่าทีที่เหมือนกำลังเล่นเกมอยู่ (ดูข่าว ที่นี่ ) นี่ยังยังไม่รวมไปถึงปัญหาพื้นฐานอย่างการติดเกมจนเสียการเรียน หรือการเสียเงินเสียทองเพื่อเติมเงินเกม เป็นต้น

ถึง Counter Strike จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่เกม FPS แบบสมจริงนี้ก็ยังไม่คลายนิยมลงแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าเกม FPS นั้นเป็นที่ชื่นชอบของลูกเล็กเด็กแดงจนกระทั่งผู้ใหญ่วัยกลางคนไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ส่วนปัจจุบัน Counter Strike ก็ยังคงแสดงความเป็นเจ้าแห่งเกม FPS ในชื่อว่า Counter Strike : Global Offensive (CS:GO) และกลายเป็นเกมหนึ่งในวงการ eSports เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

3. Grand Theft Auto (GTA)

ถ้าพูดถึงเกมที่กระทบกับสังคมไทยจริงๆ คงเดากันได้ไม่ยากเลยว่า GTA ต้องเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน เกมนี้เป็นเกมที่ให้เรารับบทอาชญากรแล้วออกสำรวจในโลก Open World ได่อย่างอิสระ คุณจะไปกินลมชมวิวหรือจะไปเดินป่า ระเบิดภูเขา เผากระท่อมยังไงก็ได้ตามใจ (มุขนี้ดักแก่มาก) หรือจะเคลียร์ภารกิจตามเนื้อเรื่องไปเลยก็สุดแล้วแต่คุณจะชอบ

ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆไม่ได้อยู่ที่การสวมบทบาทเป็นอาชญากร แต่เป็น “การทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน” มากกว่า ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำอะไรก็ได้ใน GTA ส่วนใหญ่เป็นอะไรที่เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ทะเลาะวิวาท ฆาตกรรม ชิงทรัพย์ ทำลายทรัพย์สิน และอีกสารพัดอย่างที่ในชีวิตจริงทำแล้วยังไงก็ติดคุกนอนกินข้าวแดงแน่นอน บวกกับความดังของเกมนี้จึงไม่แปลกใจที่สังคมทั่วโลกจะถูกจับจ้องและบางประเทศเองก็แบนเกมนี้อย่างจริงจัง

อิสระของเกม Open World อยากทำอะไรก็ทำ!!
เพราะชีวิตจริงมันโหดร้าย จะเลียนแบบเกมนี้…คิดดีแล้วหรือยัง!?

แม้จะบอกว่าเป็นการระบายความเครียดในเกม แต่เยาวชนไทยจำนวนหนึ่งก็แยกแยะโลกเสมือนกับโลกแห่งความจริงไม่ค่อยจะออก ดันไปทำพฤติกรรมเลียนแบบเกมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (หรือเปล่า!?) จนเกิดเหตุสลดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อย่างเหตุล่าสุดเมื่อ กุมภาพันธ์ 2559 ก็มี “คดีวัยรุ่นเลียนแบบ GTA” ไปปล้นทรัพย์และทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สวนสาธารณะหนองสิม จ.อุดรธานี (ดูข่าว ที่นี่ ) ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ถ้าบ้านเราเกิดเหตุพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงแบบนี้บ่อยๆ สังคมก็คงวางใจเกมรุนแรงชื่อดังอย่าง GTA ไม่ได้แน่นอน

คดีวัยรุ่นเลียนแบบ GTA บุกทำร้ายและปล้นทรัพย์ชาวต่างชาติ จ.อุดรธานี

จากกรณี วัยรุ่นปล้นและทำร้ายนักท่องเที่ยว จ.อุดรธานี ผู้ประกาศข่าวจากโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้นำเสนอข้อมูลของเกม GTA ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง พร้อมแสดงอคติส่วนตัวในการรายงานข่าวด้วย เหล่าเกมเมอร์ก็ออกมาโต้แย้งว่าเป็นนี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลเท่านั้น หากมีวุฒิภาวะมากพอก็สามารถแยกแยะได้ หรือถ้ามีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำเยาวชนก็จะรู้ว่าพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรลอกเลียนแบบโดยเด็ดขาด เรื่องนี้จึงสะท้อนให้สังคมไทยเห็นว่า “แม้เกมจะรุนแรงแค่ไหน แต่เกมก็มีข้อดีต่อเยาวชนอีกมากมาย” (ดูข่าว ที่นี่ )

ถึงเกมจะรุนแรงโหดร้ายแค่ไหน แต่การเผยแพร่ข่าวก็ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงด้วย

พูดกันตามตรงแล้ว GTA น่าจะเป็นเกมที่คุ้นชื่ออยู่บ้างสำหรับคนไทยในฐานะ “เกมที่เป็นอันตรายต่อสังคม” แต่สำหรับเกมเมอร์แล้วไม่ว่าจะเกมรุนแรงมากแค่ไหน แต่ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ เมื่อมีแย่ก็ต้องมีดี เพราะแท้จริงแล้วเกมให้อะไรมากกว่าความรุนแรงและความสะใจ

4. Pokemon GO

จะให้พูดถึงเกมล่าสุดที่มีอิทธิพลกับโลกทั้งใบจริงๆก็คงหนีไม่พ้น Pokemon GO เกมมือถือจากค่าย Niantic ที่สร้างปรากฎการณ์ให้กับโลกอย่างร้อนแรงสุดขีดเมื่อ กรกฎาคม 2559 (ผ่านมาเกือบปีแล้วเหรอ เร็วมาก 555+) ด้วยระบบเกมที่อาศัย GPS ตามพิกัดโลกจริงๆเพื่อออกตามหาโปเกมอนที่ซ่อนตัวอยู่ ทำให้ผู้เล่นต้องออกเดินทางเพื่อสวมบทบาท “โปเกมอนเทรนเนอร์” จับโปเกมอนเข้ามอนสเตอร์บอล และฝึกฝนโปเกมอนเพื่อแบตเทิลกับเทรนเนอร์คนอื่น

ในภาพรวมแล้วเกม Pokemon GO สร้างออกมาได้น่าสนใจ เพราะเกมสามารถเติมเต็มความรู้สึกของการ์ตูนเรื่องนี้ได้สมจริงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ถึงครั้งนี้เราจะไม่ได้อยู่ในโลกของโปเกมอน แต่เกมนี้ก็เปลี่ยนมุมมองโดยพาโปเกมอนเข้ามาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้บ้างแล้ว ซึ่งต้องขอชื่นชอบตรงนี้เลยว่าฉลาดมากๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าทาง Niantic เฉลียวใจบ้างหรือไม่ว่าเพราะการใช้ GPS ออกมาจับโปเกมอนนอกบ้านนี่แหละที่ทำให้ Pokemon GO กลายเป็นเกมที่ส่งกระทบกับโลกทั้งใบในชั่วเวลาสั้นๆ

อยากได้ตัวไหนก็ไปตามจับกันเลย!!

ที่บอกว่า Pokemon GO ดังนั้นคือไม่ได้ดังเพียงแค่ในฐานะเกมๆหนึ่ง แต่เกมนี้โด่งดังในฐานะเทรนด์และแฟชั่นของคนทั่วโลกด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เล่นเกมอยู่แล้วหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นคนที่ชอบโปเกมอนมาก่อนหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะทุกคนล้วนมุ่งให้ความสนใจกับเกมนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน หากยังจำกันได้จะเห็นเลยว่า Pokemon GO นั้นแทบจะมีข่าวนำเสนอแทบทุกวันทั้งข่าวไทยและข่าวต่างประเทศ และมีประเด็นให้พูดกันมากมายจนเบื่อกันไปข้างหนึ่งเลย เรียกได้ว่าวุ่นวายกันทั้งโลกของจริงเลยทีเดียว

แค่โทรหรือแชทก็แย่แล้ว เล่นโปเกมอนไปด้วยอันตรายยิ่งกว่า
ประชาชนเล่นเกมแบบไม่ระวังตัวเอง รัฐบาลก็ต้องเข้ามาควบคุมดูแล

ตัวอย่างข่าวที่เกี่ยวข้องกับ Pokemon GO  เช่น

“กระแสโปเกม่อนฮิตทั่วไทย วัยรุ่นแห่จับเต็มวัด เตือนเลี่ยงเล่นในที่เปลี่ยว” (ดูข่าว ที่นี่ 

“นายกฯแนะคนไทยเล่น ‘โปเกมอน โก’ อย่างเหมาะสม ตร.เตือนระวังมิจฉาชีพล่อไปที่เปลี่ยว” (ดูข่าว ที่นี่ 

“ททท.จ่อจัดระเบียบทัวร์ล่าโปเกมอน กสทช.เรียกค่ายมือถือจัดระเบียบเกม” (ดูข่าว ที่นี่ 

จากตัวอย่างข่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า Pokemon GO นั้นกลายเป็นปัญหาระดับชาติอย่างแท้จริง เผลอๆเป็นปัญหายิ่งว่า GTA ซะอีก เพราะส่งผลกระทบทั้งกับภาครัฐบาลและเอกชน เดือดร้อนกันทุกภาคส่วนทุกหย่อมหญ้า ถึงขั้นต้องมี “การจัดเสวนาอย่างเป็นทางการ” เพื่ออภิปรายถึงกระแสของ Pokemon GO ที่มีต่อสังคมไทยในตอนนั้นเลยทีเดียว (อ่านได้ ที่นี่ ) แต่ความวุ่นวายทั้งหลายก็จบลงไปพร้อมกับกระแสของเกมที่วูบหายไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องร่วมกันหารือกันอย่างจริงจัง!!

สุดท้ายแล้วก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า “เกม” ถือเป็นสื่อที่สังคมไทยมักจะจับตามองแง่ลบมาตลอด แต่ฐานะคนเล่นเกมก็อยากให้สังคมช่วยตระหนักและเปิดใจว่าไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดใดก็ต้องมีทั้งบวกและลบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารบ้านเมือง, ละคร ภาพยนตร์, โลกโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงการเล่นเกมเองก็เป็นตัวช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับคนในสังคมทั้งในเชิงสร้างสรรค์และทำลายสังคมได้ทั้งนั้น ไม่มีสื่อใดที่ดีหรือเลวเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เกมเองหากถูกนำเสนอในแง่มุมลบอย่างเดียว คนในสังคมไทยก็ไม่มีวันมองเกมเป็นเรื่องสร้างสรรค์แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นเกม คือ “จะควบคุมการเล่นเกมของตัวเองและคนใกล้ตัวของเราอย่างไร” ไม่ให้ถูกเกมครอบงำจนสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

Facebook Comments

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here